วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตำราพิชัยสงครามของซุนวู และเง่าคี้

กล่าวนำ "แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ"
การเตรียมรบให้พร้อมสรรพ คือ การตระเตรียมกำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พรักพร้อม แต่จะคิดให้ไกลและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไปอีก น่าจะหมายถึงการ "เตรียมจิตใจ" และ "ความคิด" ในเรื่องของ การศึกสงครามไว้ให้พร้อมด้วย การทำศึกสงคราม ถือเอาชัยชนะด้วยการใช้สติปัญญาเป็นเรื่องสำคัญกว่าการใช้เพียงกำลัง
ซุนวูสอนว่า.... "สงครามทุกรูปแบบ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกลอุบาย" และ "นโยบายที่ดีที่สุดของการชนะสงคราม คือ การทำให้ข้าศึก ยอมแพ้โดยไม่ต้องสู้รบ" หมายถึง การใช้สติปัญญา ความรอบรู้ กำหนดแผนยุทธศาสตร์ เพื่อทำลายล้างข้าศึก หรือทำให้ข้าศึก เกิดความอ่อนแอภายในเสียก่อนที่จะต้องใช้กำลังทหารเข้าทุ่มเท
ซุนวูกล่าวว่า..... "แม่ทัพที่ชำนาญการสงคราม เอาชนะข้าศึกได้โดยมิต้องสู้รบ ยึดเมืองได้โดยมิต้องใช้กำลังเข้าตี และล้มอาณาจักรของศัตรูได้โดยมิต้องทำการรบเรื้อรัง"
การได้อ่าน และทบทวนตำราพิชัยสงครามของซุนวูหลาย ๆ ครั้ง ไม่เพียงจะทำให้เกิดสติปัญญา และความคิดอันเป็นประโยชน์ในการรู้สึกไหวตัว ยังช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันได้ง่าย
สงครามเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่ง คู่สงครามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้ หรือฝ่ายชนะ ต่างต้องได้รับความเสียหาย ชีวิตของผู้คนพลเมือง ทรัพย์สินของบ้านเมืองต้องสูญเสียสิ้นเปลืองอย่างน่าอเนจอนาถ สงครามเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนใหญ่หลวงของประชาชน และผู้ต้องภัยพิบัติมากที่สุดจากสงคราม ก็คือประชาชนโดยตรง
ม่อตี๊ เป็นนักคิด นักบันทึกจดหมายเหตุ (พ.ศ.64-162) ประณามการทำสงครามไว้อย่างน่าพิจารณาว่า "ความถูกต้อง และความควรมิควร เป็นสิ่งชี้ขาดได้ยาก" ผู้ที่ทำความผิดขนาดเล็ก ถือเป็นอาชญากร แต่ผู้ที่ทำผิดขนาดใหญ่กว่า เช่น การยกกองทัพ ไปรุกรานโจมตีเข่นฆ่าผู้คนพลเมืองของเมืองอื่นล้มตายนับพันนับหมื่น กลับไม่ถือกันว่าเป็นความผิด แต่กลายเป็นสิ่งอันควรยกย่องสรรเสริญ แล้วเช่นนี้ ความถูกต้อง และความควรมิควรอยู่ที่ใดกันแน่"
ซุนวู และตำราพิชัยสงครามสิบสามบท
ขบวนศึกของจีนในยุคนั้น มีการจัดกำลังเพื่อทำการรบ ได้ทั้งแบบปรกติธรรมดา ซึ่งเรียกว่าเจิ้ง หรือเจี่ย และแบบพิสดาร เรียกว่า ฉี หรือคี้ ซึ่งหมายถึงผิดจากธรรมดา เช่นการใช้กองทัพใหญ่เข้าตีตรงหน้า เป็นหลักธรรมดา เป็นเจิ้ง ขณะเดียวกัน ใช้หน่วยจู่โจม ต่างหาก เข้าตีทางปีกซ้ายของข้าศึก หรือปีกขวา หรือด้านหลัง ในลักษณะลอบเข้าตีโดยที่ข้าศึกไม่คาดคิด ถือเป็น ฉี คือ พิสดาร กลอุบายสร้างความพะวักพะวังลังเลให้ข้าศึก เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งซึ่งจะเอาชนะข้าศึกได้
"เจิ้ง และ ฉี" จึงปรากฎอยู่เสมอในการทำสงครามยุคนั้น
การสงครามทัศนะของซุนวู
สงครามเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของบ้านเมือง จะต้องศึกษากันให้ถ่องแท้ ซุนวู เชื่อว่า "กำลังใจ" และ "สติปัญญา" ของมนุษย์ คือสิ่งสำคัญที่จะชี้ขาดผลของสงคราม ผู้พิชิตศึกได้ดีเยี่ยมย่อม "ทำลายแผนของข้าศึก" สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างข้าศึกและ พันธมิตร ระหว่างขุนนาง ระหว่างแม่ทัพกับทหาร ก่อวินาศกรรมในเขตของข้าศึก ข้าศึกจะเสียขวัญ หมดกำลังใจต่อสู้ต้านทาน กองทัพข้าศึกก็จะยอมแพ้ เว้นแต่เมื่อเอาชนะข้าศึกด้วยวิธีดังกล่าวมิได้ การใช้กำลังทหารจึงจะเป็นเรื่องจำเป็น
"ผู้ทำสงครามโดยหวังชัยชนะ" ควรปฏิบัติตามหลักสำคัญ ๓ ประการ :- ๑. ทำสงครามให้สุดสิ้นเด็ดขาด ด้วยระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ๒. ทำสงครามโดยให้สูญเสียทรัพย์สินสิ่งของชีวิตทหาร และการใช้ความพยายามให้น้อยที่สุด ๓. สร้างความเสียหายให้ข้าศึกมากที่สุด โดยตัวเองมีความเสียหายน้อยที่สุด
"หลักสำคัญที่ซุนวูยึดถือ" คือ ความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนในบ้านเมือง สิ่งจำเป็นยิ่งที่จะช่วยให้ชนะสงครามได้ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบ้านเมือง "แม่ทัพที่ฉลาด" จะสร้างสถานการณ์ที่ช่วยทำให้เขาแน่ใจได้ว่า จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้รวดเร็ว ซุนวูย้ำเสมอว่า สิ่งจำเป็นที่สุดในการทำสงคราม คือ "ความสามารถในการโจมตีที่ความคิดของข้าศึก" ยุทธวิธีของแม่ทัพผู้สามารถ ขึ้นอยู่กับการนำเอาการรบแบบธรรมดา (เจิ้ง) และการรบแบบ พิสดาร (ฉี) มาใช้ให้ถูกต้อง ผสมผสานกันโดยเหมาะสม จะให้ผลในทางที่ดีเสมอ
เจิ้งกับฉี เปรียบได้กับวงแหวนสองวง เกี่ยวกันอยู่ ใครเล่าจะบอกได้ว่า ห่วงกลมทั้งสองที่คล้องกันอยู่นั้น เริ่มคล้องที่ใดและสิ้นสุดตรงไหน ปฏิบัติการของกำลังส่วนที่เป็นฉี หรือพิสดารเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ข้าศึก ไม่คาดคิดเสมอ "แม่ทัพที่ดี รู้จักระมัดระวัง รอคอย แต่ไม่รีรอลังเล" เขาเห็นโอกาสเปิดเขาลงมือกระทำการ โดยฉับพลันทันที และเด็ดขาด ทฤษฎีของซุนวู ให้รู้จักปรับตนเองได้ตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซุนวูเห็นว่า ผู้ที่ไม่รู้จักเลือกใช้พื้นที่ให้ ถูกต้อง ย่อมเป็นแม่ทัพมิได้
คู่ลู่ยุ นักทำแผนที่ทหารสำคัญของจีน (พ.ศ.๒๑๗๔-๒๒๓๕) บันทึกไว้ว่า "ใครก็ตามที่เริ่มดำเนินการสงคราม ณ ที่ใดที่หนึ่งของประเทศ เขาควรรู้สภาพภูมิประเทศใน เขตสงครามโดยครบถ้วนถูกต้อง การทำสงครามโดยไม่รู้จักภูมิประเทศโดยละเอียด ย่อมจะต้องพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ"
"ไม่มีบ้านเมืองใดที่ได้ประโยชน์จากการทำสงครามยืดเยื้อ" ซึ่งเป็นทฤษฎีของซุนวูยังนำมาใช้ใน ปัจจุบันในการปฏิบัติทางทหารของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ว่า "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม" ซึ่งทราบกันดีว่ามาจากยุทธวิธีของ "เมาเซตุง" ที่ว่า ๑. เมื่อข้าศึกรุก เราถอย ๒. เมื่อข้าศึกหยุดพัก เรารบกวน ๓. เมื่อข้าศึกอิดโรยหลีกเลี่ยงการสู้รบ เราเข้าตี ๔. เมื่อข้าศึกถอย เราติดตามทำลาย
ฉะนั้น ยุทธวิธีของเมาเซตุง จึงไม่ใช่ความคิดใหม่ของเมาเซตุงเลย ที่แท้มาจากความคิดและ ทฤษฎีตามตำราพิชัยสงครามของซุนวูนั่นเอง

บรรพที่ ๑ การประมาณสถานการณ์

ซุนวู กล่าวว่า..... สงครามเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของบ้านเมือง เป็นเรื่องถึงเป็นถึงตายเป็นหนทางเพื่อความอยู่รอด หรือความพินาศ ฉิบหาย จึงเป็นอาณัติที่จะ "ต้องศึกษาให้ถ่องแท้"
จงวางกำหนดขีดความสามารถด้วย "หลักมูลฐานสำคัญ ๕ ประการ" และเปรียบเทียบ "องค์ประกอบ ๗ ประการ" จะทำให้ประเมินความจำเป็น และความสำคัญได้ถูกต้อง
หลักมูลฐานสำคัญ ๕ ประการ (ขวัญ- ลมฟ้าอากาศ - ภูมิประเทศ - การบังคับบัญชา - กฎเกณฑ์วิธีการ) ๑. ขวัญหมายถึง สิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้นำ ประชาชนย่อมร่วมทางกับผู้นำ แม้จะต้องไปก็ไม่กลัวอันตราย ไม่เสียดายแแต่ชีวิต ๒. ลมฟ้าอากาศหมายถึง ภาวะความเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากอิทธิพลของธรรมชาติ การปฏิบัติทางทหารที่จะทำให้เกิดความเหมาะสมกับฤดูกาล ๓. ภูมิประเทศ (ยุทธภูมิ) หมายถึง ระยะทาง ความยากง่ายของพื้นที่ที่จะต้องเดินทัพข้าม เป็นพื้นที่เปิดหรือพื้นที่ปิดล้อม และโอกาสของความเป็นความตาย ๔. การบังคับบัญชาหมายถึง คุณสมบัติของแม่ทัพ อันจะต้องประกอบด้วยความมีสติปัญญา ความมีมนุษยธรรม มีความมานะพยายาม และมีความเคร่งครัด ๕. กฎเกณฑ์ และวิธีการหมายถึง การจัดขบวนทัพ การควบคุม การมอบหมายงานให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา การวางเส้นทางการลำเลียงอาหารได้สม่ำเสมอ จัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นแก่กองทัพ
"ไม่มีแม่ทัพคนใดที่ไม่เคยได้ยินสาระสำคัญทั้ง ๕ ประการนี้ ใครที่เคยปฏิบัติได้ดี ครบถ้วนทุกอย่างย่อมเป็นผู้ชนะ ใครที่ปฏิบัติมิได้ย่อมพ่ายแพ้"
ในการวางแผน ต้องเปรียบเทียบ "สิ่งต่างๆ ๗ ประการ" ต่อไปนี้ด้วยการประมาณคุณค่าอย่างระมัดระวังที่สุดเสียก่อน "ผู้ปกครองคนใดที่มีอิทธิพลต่อขวัญของผู้คน ผู้บังคับบัญชาคนใดที่มีความสามารถเหนือกว่ากองทัพ อย่างไหนที่จะได้เปรียบในการใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติ กฎเกณฑ์และคำสั่งอย่างไรที่ปฏิบัติแล้วจะดีกว่า ขบวนศึกอย่างไรจะเข้มแข็งกว่า"
"สงครามทุกรูปแบบ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกลอุบาย" ฉะนั้น เมื่อมีความสามารถ จงทำเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อคล่องตัว ก็แสร้งทำเป็นไม่คล่องตัว เมื่อเข้าใกล้ ทำให้ปรากฎเหมือนดังอยู่ไกล เมื่ออยู่ไกล ทำประหนึ่งอยู่ใกล้ วางเหยื่อล่อข้าศึก แสร้งทำเป็นสับสนอลหม่าน แล้วโจมตีข้าศึก
ทำให้แม่ทัพของข้าศึกเกิดความโมโห และหัวหมุนวุ่นวายใจ แสร้งทำเป็นอ่อนแอกว่า แล้วยั่วยุให้ข้าศึกเกิดความหยิ่งยะโส
เมื่อข้าศึกรวมตัวกันติด ทำให้แยกกันเสีย โจมตี จุดที่ข้าศึกมิได้เตรียมการป้องกัน ใช้ความฉับไวโจมตีในขณะที่ข้าศึกไม่ได้คาดคิด
"สิ่งเหล่านี้ คือ กุญแจอันจะนำไปสู่ชัยชนะของนักยุทธศาสตร์"

บรรพที่ ๒ การทำศึก

ซุนวู กล่าวว่า..... "ชัยชนะ เป็นความมุ่งหมายใหญ่ที่สุดในการทำสงคราม ถ้าการทำสงครามถูกหน่วงเหนี่ยวให้ล่าช้าเพียงใด อาวุธจะสิ้นคม จิตใจทหารจะหดหู่ เมื่อยกกำลังเข้าตีเมือง กำลังของทหารจะสิ้นไป"
"ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ยินแต่ การทำสงครามที่รวดเร็ว และฉับพลัน เราไม่เคยเห็นปฏิบัติการสงครามที่ฉลาด ครั้งใด กระทำโดยยืดเยื้อ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าใจอันตรายอันเกิดจากการใช้กำลังทหาร ย่อมจะไม่สามารถเข้าใจถึงความ ได้เปรียบของการใช้กำลังทหาร ได้ในทำนองเดียวกัน"
"ผู้ชำนาญการศึก ไม่ต้องการกำลังหนุนส่วนที่สอง และไม่ต้องการเสบียงอาหารเกินกว่าครั้งเดียว กองทัพขนยุทโธปกรณ์ไปจากบ้านเมืองของตน และอาศัยเสบียงอาหารของข้าศึก ด้วยเหตุนี้กองทัพจึงมีเสบียงอาหารมากมาย ไม่ขัดสน เมื่อประเทศต้องขัดสนเพราะการทำศึก เหตุก็เนื่องมาจากการลำเลียงมีระยะทางไกล กองทหารไปตั้งอยู่ที่ใด ราคาของจะสูงขึ้น ความสมบูรณ์ พูนสุขของประชาชนก็จะหมดสิ้นไป เมื่อความสมบูรณ์ลดลง ประชาชนก็จะเดือดร้อน เพราะจะต้องมีการเรียกเก็บภาษียามฉุกเฉิน แม่ทัพที่ฉลาด จึงดำเนินการเพื่อให้กองทัพของตนอยู่ได้ด้วยเสบียงของข้าศึก (ข้าวของข้าศึกหนึ่งถัง มีค่าเท่ากับข้าวของตนเองยี่สิบถัง)
"เหตุที่ทหารฆ่าฟันศัตรู ก็เพราะความโกรธแค้น"(นำข้อนี้มาเป็นอุบายให้ทหารเรามีใจรุกรบต่อสู้ได้)
"เมื่อจับเชลยศึกได้ ปฏิบัติดูแลให้ดี" อย่างนี้เรียกว่า "ชนะศึกแล้ว เข้มแข็งขึ้น"
"สิ่งสำคัญในการทำศึก คือ ชัยชนะ มิใช่ปฏิบัติการที่ยืดเยื้อ ฉะนั้น แม่ทัพที่เข้าใจเรื่องราวของสงคราม จึงเป็นผู้กำชะตากรรมของพลเมือง เป็นผู้ชี้อนาคตของชาติ"

บรรพที่ ๓ ยุทธศาสตร์การรบรุก

ซุนวูกล่าวว่า... "โดยปกติธรรมดาในการทำสงคราม นโยบายดีที่สุด คือ การเข้ายึดบ้านเมืองของข้าศึกได้โดยมิให้บอบช้ำ การทำให้เกิดความพินาศฉิบหายย่อมด้อยกว่า" "ชัยชนะร้อยครั้ง จากการทำศึกร้อยครั้ง มิได้แสดงว่า ฝีมือดีเยี่ยม การทำให้ข้าศึกยอมแพ้โดยไม่ต้องสู้รบ แสดงว่ามีฝีมือยอดเยี่ยม" "ฉะนั้น ความสำคัญสูงสุดในการทำสงคราม จึงอยู่ที่การโจมตีที่แผนยุทธศาสตร์ของข้าศึก ที่ดีเยี่ยมรองลงมา คือ การทำให้ข้าศึกแตกแยกกับพันธมิตร ที่ดีรองลงมา คือ การโจมตีกองทัพของข้าศึก นโยบายเลวที่สุด คือ การตีตัวเมือง การเข้าตีตัวเมือง กระทำกันเมื่อไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น"
"เท่าที่ปรากฎ ศิลปะในการใช้ขบวนศึกมีอยู่ดังนี้ เมื่อมีกำลังอยู่เหนือกว่าข้าศึก ๑๐ เท่า ล้อมข้าศึกไว้ เมื่อมีกำลังเหนือกว่า ๕ เท่า ให้โจมตีข้าศึก ถ้ามีกำลังเป็น ๒ เท่า แยกกำลังข้าศึก ถ้ามีกำลังทัดเทียมกัน ท่านอาจเข้ารบโดยตรงได้ (แม่ทัพที่มีความ สามารถเท่านั้น เป็นผู้เอาชนะได้) ถ้ามีทหารจำนวนน้อยกว่า ต้องมีความสามารถในการถอยทัพ และถ้าไม่ทัดเทียมกันในทุกแง่มุม เมื่อมีกำลังน้อยกว่า ต้องสามารถหลบเลี่ยงข้าศึกให้ได้ แต่ต้องเข้าตี เมื่อมีกำลังเหนือกว่า
"ผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดในแผ่นดิน รู้จักเลือกคนดีไว้ใช้ ย่อมเจริญรุ่งเรือง ใครที่ใช้คนดีไม่ได้ ย่อมพินาศฉิบหาย"
หนทางที่ผู้มีอำนาจในแผ่นดิน จะนำโชคร้ายมาให้กองทัพของตน มีอยู่ ๓ ประการ คือ ๑. เมื่อโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ว่ากองทัพยังไม่ควรรุก ก็สั่งให้รุก กองทัพที่มีปัญหาเช่นนี้ เท่ากับถูกมัดขา ๒. เมื่อผู้โง่เขลาในกิจการทหาร เข้ามายุ่งเกี่ยวในงานฝ่ายบริหารของกองทัพ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ บรรดาแม่ทัพนายกอง เกิดความสับสนงงงวย ๓. เมื่อขาดความรู้ในสายงานการบังคับบัญชา ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ เหตุเช่นนี้ทำให้เกิด ความสงสัยขึ้นในจิตใจของแม่ทัพนายกอง
"ไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่า คำสั่งบังคับบัญชาที่มาจากผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในเมือง"
มีสิ่งแวดล้อมอยู่ ๕ ประการที่จะช่วยให้ทำนายชัยชนะได้ คือ ๑. ผู้ที่รู้ว่าเมื่อใดควรรบ และเมื่อใดไม่ควรรบ จะเป็นผู้ชนะ ๒. ผู้ที่รู้จักว่าจะใช้กองทหารขนาดใหญ่ และขนาดเล็กอย่างไร จะเป็นผู้ชนะ ๓. ผู้ที่มีนายและไพร่พลกลมเกลียวเหนียวแน่นในการทำศึก จะเป็นผู้ชนะ ๔. ผู้ที่มีวิจารณญาณ และสงบนิ่ง คอยข้าศึกผู้ขาดวิจารณญาณ จะเป็นผู้ชนะ ๕. ผู้ที่มีแม่ทัพ เป็นผู้ที่มีความสามารถ และไม่ถูกรบกวนแทรกแซงจากผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดินสูงสุด จะเป็นผู้ชนะ
"รู้จักข้าศึก และรู้จักตัวของท่านเอง ในการรบร้อยครั้งท่านไม่มีวันประสบอันตราย เมื่อท่านไม่รู้จักข้าศึกดีพอ แต่ท่านยังรู้จักตัวเอง โอกาสที่ท่านจะแพ้หรือชนะมีอยู่เท่าๆกัน
ถ้าไม่รู้จักให้ดีพอทั้งข้าศึกและตัวของท่านเอง ท่านแน่ใจได้เลยว่า ในการศึกร้อยครั้ง ท่านจะประสบอันตราย"

บรรพที่ ๔ ท่าที

ซุนวูกล่าวว่า... "ในสมัยโบราณ สิ่งที่นักรบผู้ชำนาญพึงปฏิบัติ คือ ทำให้ตัวเองอยู่ในฐานะที่ไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ แล้วคอยจนถึงเวลาที่ข้าศึก ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ" "การทำมิให้มีผู้ใดเอาชนะได้ ขึ้นอยู่กับตัวเอง ความเสียเปรียบของข้าศึกอยู่ที่ตัวของเขาเอง"
เหมยเย่าเฉิน อธิบายว่า... "อะไรที่ขึ้นอยู่กับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าย่อมทำได้ แต่สิ่งที่ต้องขึ้นกับข้าศึก จะถือเอาเป็นการแน่นอนมิได้" " การที่ไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ขึ้นอยู่กับการป้องกัน ทางที่อาจมีชัยชนะได้อยู่ที่การโจมตี เมื่อไม่มีกำลังเพียงพอ ก็ป้องกันตัว เมื่อมีกำลังเพียงพอ (เหลือเฟือ) จึงโจมตี ผู้ที่ชำนาญการทำศึก จึงยึดมั่นในหลักของเต๋า รักษากฎเกณฑ์ แล้วจึงสามารถกำหนดแนวที่จำนำชัยชนะมาได้"
"องค์ประกอบในการพิชัยสงครามนั้น ข้อแรกทีเดียวคือ การจัดพื้นที่ ข้อที่สอง ประมาณปริมาณ ข้อที่สามคือ การคิดคำนวณ ข้อที่สี่ เป็นการเปรียบเทียบ และข้อที่ห้า คือ โอกาสที่จะมีชัยชนะ"

บรรพที่ ๕ กำลังพล

ซุนวูกล่าวว่า... "โดยทั่วไปนั้น การจัดการคนจำนวนมาก ก็อย่างเดียวกับการจัดการคนสองสามคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบบริหาร การควบคุมคนจำนวนมากเหมือนกับการควบคุมคนสองสามคน ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับรูปขบวน และสัญญาณ"
"ใช้กำลังแข็งที่สุด โจมตีจุดว่างที่สุด" โดยทั่วไปในการทำศึก ใช้ "กำลังรูปธรรมดา" เข้าปะทะกับข้าศึก แล้วใช้ "กำลังรูปพิสดาร" เพื่อเอาชนะ สำหรับผู้ชำนาญในการทำศึกนั้น ความสามารถในการใช้กำลังรูปพิสดารมีอยู่ไม่รู้จบรู้สิ้น (โน้ตดนตรี, แม่สี, รสอาหาร)
เมื่อกระแสน้ำเชี่ยวพุ่งเข้าชนทำนบทะลายลง นั่นก็เพราะมีพลังรวมของการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว (หมายถึง Momentum) นั่นเป็นเพราะ "จังหวะ" ความหนักหน่วงในการเข้าตี เปรียบได้ดังหน้าไม้ที่ขึงตึงที่สุด จังหวะของเขาอยู่ที่การหน่วงไก ความมีระเบียบและขาดระเบียบ ขึ้นอยู่กับ "การจัดรูปบริหาร" ความกล้าหาญ และความขาดกลัว ขึ้นอยู่กับ "ภาวะแวดล้อม" มีกำลัง หรืออ่อนแอ ขึ้นอยู่กับ "ท่าทีของข้าศึก"
ผู้ที่ชำนาญในการทำศึกให้ข้าศึกต้องเคลื่อนที่ จึงปฏิบัติด้วยวิธี "สร้างสถานการณ์" ให้อำนวยประโยชน์แก่ตนเสียก่อน แล้วจึง "ลวง" ข้าศึกด้วยบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่าข้าศึกพึงประสงค์ และคิดว่าจะทำให้มีความได้เปรียบ ขณะเดียวกันก็ "ซ่อนกำลัง" ไว้ขยี้ข้าศึก ฉะนั้น "แม่ทัพผู้ชำนาญศึก จึงแสวงหาชัยชนะจากสถานการณ์" โดยไม่เรียกร้องชัยชนะจากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา"
แม่ทัพเป็นผู้เลือกคน แล้วปล่อยมือให้คนของเขาหาประโยชน์เอาจากสถานการณ์ คนที่กล้าหาญ จะเข้าต่อสู้ ผู้ที่ไม่ประมาท จะคอยป้องกัน คนมีสติปัญญา จะคอยให้คำปรึกษา ไม่ทิ้งผู้มีความสามารถให้เปล่าประโยชน์
"วิธีจัดกำลังคน" นั้น ให้ใช้คนโลภกับคนโง่ คนมีสติปัญญา ให้คู่กับคนที่กล้าหาญ แล้วมอบหมายความรับผิดชอบให้แต่ละคู่ตามความเหมาะสม ของสถานการณ์ อย่ามอบหมายให้ใครทำงานที่เห็นว่าเขาทำไม่ได้ เลือกคนแล้วมอบหมายความรับผิดชอบให้ทำตาม กำลังและความสามารถของคนนั้นๆ
"ผู้ที่ถือเอาสถานการณ์เป็นสำคัญ ย่อมใช้กำลังทหารเข้าสู้รบ เช่นเดียวกับการกลิ้งท่อนซุง หรือก้อนหิน ธรรมชาติของ ซุงและหินนั้น ถ้าแผ่นดินเรียบ มันก็หยุดนิ่ง ถ้าแผ่นดินไม่ราบเรียบ มันก็กลิ้งง่าย ถ้าซุง หรือหินเป็นรูปเหลี่ยม มันก็ไม่กลิ้ง ถ้ากลม ก็กลิ้งได้ง่าย" ฉะนั้นความสามารถของกองทัพที่มีแม่ทัพเป็นผู้สามารถ จึงเปรียบได้ดังการผลักหินกลมให้กลิ้งลงจากภูเขาสูง "เมื่อจะใช้ กำลังทหาร จะต้องถือเอาความได้เปรียบจากสถานการณ์ (ภาวการณ์)" กำลังที่ใช้เพียงเล็กน้อย แต่ผลที่ได้รับนั้นมหาศาล

บรรพที่ ๖ ความอ่อนแอ และความเข้มแข็ง

ซุนวูกล่าวว่า... "โดยทั่วไปนั้น ผู้ที่ตั้งค่ายในสนามรบได้ก่อน และคอยทีข้าศึกอยู่ ย่อมไม่เคร่งเครียด ผู้ที่มาถึงภายหลัง แล้วรีบเร่งเข้าทำการรบ ย่อมอิดโรย" "ผู้ชำนาญการสงครามจึงชักจูงให้ข้าศึกเดินเข้ามาสู่สนามรบ มิใช่ให้ข้าศึกนำตนเข้าสู่สนามรบ"
"เมื่อข้าศึกสบาย จงรังควานให้เกิดความอิดโรย เมื่ออิ่มท้อง ต้องทำให้หิว เมื่อหยุดพัก ทำให้เคลื่อนที่"
"ปรากฎตัวในที่ๆจะทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนอลหม่าน เคลื่อนที่เข้าตีอย่างรวดเร็วในที่ๆข้าศึกไม่คาดคิดว่าท่านจะเข้าถึงได้" "ท่านอาจเดินทัพได้ไกลพันลี้ โดยไม่อิดโรย เพราะเดินทางในเขตที่ไม่มีข้าศึก"
เพื่อให้แน่ใจว่าเข้าตีจุดใด ย่อมยึดได้ที่นั้น จงเข้าตีจุดที่ข้าศึกขาดกันป้องกัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะป้องกันที่ตั้งไว้ได้ จงป้องกันพื้นที่ที่ข้าศึกจะไม่เข้าตี ฉะนั้น "สำหรับผู้ที่ชำนาญในการเข้าตี ข้าศึกจะไม่รู้ว่าควรป้องกันที่ใด ส่วนผู้ที่ชำนาญในการป้องกันนั้น ข้าศึกก็มิรู้ว่าจะเข้าตีที่ใด"
ผู้ที่รุกด้วยการทุ่มเทกำลังที่ไม่มีผู้ใดต้านทานได้ ลงตรงจุดอ่อนของข้าศึก ผู้ที่ถอยทัพโดยไม่ให้ผู้อื่นติดตามได้ จะกระทำอย่างรวดเร็วฉับพลันจนไม่มีผู้ใดไล่ได้ทัน มาดังลมพัด ไปดังสายฟ้า
"เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาจะเปิดการรบ" แม้ข้าศึกจะมีกำแพงสูง และคูเมืองป้องกัน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าโจมตี ณ จุดที่ข้าศึกต้องการความช่วยเหลือ "เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาจะหลีกเลี่ยงการรบ" ข้าพเจ้าอาจป้องกันตัวเองง่ายๆ ด้วยการขีดเส้นลงบนพื้นดิน ข้าศึกก็ไม่อาจโจมตี ข้าพเจ้าได้ เพราะข้าพเจ้าจะเปลี่ยนมิให้ข้าศึกมุ่งไปยังที่เขาประสงค์จะไป
"ถ้าข้าพเจ้าจะสามารถคอยพิจารณาดูท่าทีของข้าศึก ขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ช่อนเร้นท่าทีของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็จะสามารถรวมกำลัง โดยข้าศึกต้องแบ่งกำลัง และถ้าข้าพเจ้ารวมกำลังได้ ขณะที่ข้าศึกแบ่งแยกกำลัง ข้าพเจ้าก็สามารถใช้กำลังทั้งหมดขยี้กำลังย่อยของข้าศึกได้ เพราะข้าพเจ้ามีจำนวนทหารมากกว่า ฉะนั้นเมื่อสามารถใช้กำลังเหนือกว่าโจมตีผู้มีกำลังด้อยกว่า ณ จุดที่ข้าพเจ้าเป็นผู้กำหนด ใครที่ต้องสู้กับข้าพเจ้าจะเหมือนดังอยู่ในช่องแคบอันเต็มไปด้วยอันตราย"
"ข้าพเจ้าจะต้องไม่ให้ข้าศึกรู้ว่า ข้าพเจ้าจะเปิดการรบ ณ ที่ใด เมื่อไม่รู้ว่าข้าพเจ้าตั้งใจจะรบที่ใด ข้าศึกก็ต้อง เตรียมตัวรับในที่ต่างๆกันหลายแห่ง เมื่อข้าศึกต้องเตรียมรบในที่หลายแห่ง ณ จุดที่ข้าพเจ้าต้องการเปิดการรบ กำลังของข้าศึกจึงมีอยู่เพียงเล็กน้อย" จงพิจารณาที่แผนของข้าศึกเสียก่อน แล้วท่านจึงรู้ว่าควรใช้แผนยุทธศาสตร์ใดจึงจะได้ผล
กวนข้าศึกให้ปั่นป่วน แล้วดูรูปขบวนความเคลื่อนไหวของข้าศึกให้แน่ชัด พิจารณาท่าทีของข้าศึก แล้ว "ศึกษาลักษณะภูมิประเทศ (สมรภูมิ) ให้ถ่องแท้" ตรวจสอบ และ "ศึกษาให้รู้ว่า กำลังของข้าศึกส่วนใดเข้มแข็ง และส่วนใดบอบบาง"
"สิ่งสำคัญในการวางรูปขบวนศึก อยู่ที่การไม่กำหนดรูปร่างให้แน่ชัด เพื่อมิให้สายลับของข้าศึกที่แอบแฝงอยู่อ่านรูปขบวนออก ข้าศึกแม้จะมีสติปัญญาเพียงใด ก็ไม่สามารถวางแผนทำลายท่านได้" เมื่อข้าพเจ้าได้ชัยชนะครึ่งหนึ่งแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ใช้ยุทธวิธีนั้นซ้ำอีก แต่จะยึดถือเอาสภาวะแวดล้อมในลักษณะที่ผิดแปลกแตกต่างออกไปไม่รู้จบสิ้น ในการทำสงครามไม่มีภาวะใดคงที่

บรรพที่ ๗ การดำเนินกลยุทธ์

ซุนวูกล่าวว่า… ไม่มีอะไรยากไปกว่า ศิลปะในการดำเนินกลยุทธ์ ความยากลำบากของการดำเนินกลยุทธ์อยู่ที่การทำให้เส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวลด กลายเป็นทางตรงที่สุด กลับโชคร้ายให้กลายเป็นความได้เปรียบ ด้วยเหตุนี้ จงเดินทัพโดยทางอ้อม แล้วเปลี่ยนทิศทางของข้าศึกด้วยการวางเหยื่อล่อให้ข้าศึกเกิดความสนใจ ด้วยวิธีดังกล่าว ท่านอาจเคลื่อนขบวนข้าศึกทีหลัง แต่ถึงที่หมายก่อนข้าศึก ผู้ที่สามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้ ย่อมเข้าใจ "ยุทธวิธีแบบทางตรง และทางอ้อม"
ทั้งความได้เปรียบ และอันตราย เป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้กลยุทธ์ ผู้ที่เคลื่อนทัพขบวน เพื่อหาความได้เปรียบ จะไม่มีวันรับความได้เปรียบ ถ้าเขาทิ้งค่าย เพื่อแสวงหาความได้เปรียบ สัมภาระจะเกิดความเสียหาย สิ่งที่ตามมา คือ เมื่อเก็บเกราะ แล้วเดินทางด้วยความรีบเร่งเกินไป ผลที่ตามมา กองทัพจะขาดอาวุธยุทโธปกรณ์หนัก เสบียงอาหาร และสัมภาระอื่นๆจะสูญเสีย
ผู้ที่ไม่รู้จักสภาพป่า ที่รกอันเต็มไปด้วยอันตราย พื้นที่ชื้นแฉะ และพื้นที่ของป่าชายเลน จะไม่สามารถนำทัพเดินทางได้ ผู้ที่ไม่รู้จักมัคคุเทศก์พื้นเมือง จะไม่อาจแสวงหาความได้เปรียบได้จากพื้นที่
รากฐานของการทำสงคราม คือ กลอุบาย เคลื่อนที่เมื่อมีทางได้เปรียบ แล้วสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยแยกกำลัง และรวมกำลัง เมื่อลงมือเข้าตี ต้องรวดเร็วราวลมพัด เมื่อเดินทัพ ให้มีความสง่าดังป่าไม้ เมื่อบุกทลวง ก็ให้เหมือนดังไฟไหม้ เมื่อหยุดยืน ก็ให้มั่นคงดังขุนเขา มิให้ผู้ใดหยั่งเชิงได้ดั่งเมฆ เมื่อเคลื่อนที่ ก็รวดเร็วดังสายฟ้าฟาด เมื่อรุกเข้าไปในชนบท แบ่งกำลังออก เมื่อยึดดินแดนได้ให้แบ่งปันผลกำไร ชั่งน้ำหนักของสถานการณ์เสียก่อน แล้วจึงเคลื่อนทัพ
กองทัพอาจถูกทำให้เสียขวัญได้ และแม่ทัพก็อาจหมดมานะได้ เมื่อทำศึกเป็นเวลานาน เปรียบเทียบได้ว่า เช้าตรู่ จิตใจทหารแจ่มใส ระหว่างเวลากลางวัน ทหารเกิดความอิดโรย พอตกเย็นก็คิดถึงบ้าน ด้วยเหตุนี้ ผู้ชำนาญการศึก จึงหลีกเลี่ยงข้าศึกเมื่อเวลาที่ข้าศึกมีจิตใจฮึกเหิม เข้าตีเมื่อเวลาที่ข้าศึกอิดโรย ทหารพากัน คิดถึงบ้าน นี่คือ เรื่องของการควบคุมภาวะของอารมณ์ เมื่อกองทัพที่อยู่ในระเบียบ ตั้งคอยตีทัพข้าศึกที่ขาดระเบียบ ในความสงบเงียบนั้น คือจิตใจที่กระหายจะสู้รบ นี่คือ การควบคุมภาวะจิตใจ
ศิลปะของการใช้กำลังทหาร อยู่ที่ ไม่เผชิญหน้ากับข้าศึกที่อยู่บนที่ดอนและเมื่อข้าศึกยึดได้เนินเขา ยันด้านหลังของกองทัพอยู่ ก็อย่าเข้าทำการรบด้วย เมื่อข้าศึกแสร้งทำแตกหนี อย่าติดตาม อย่าเข้าตีกองทหารทลวงฟันของข้าศึก อย่ากลืนเหยื่อที่ข้าศึกเสนอให้ อย่าขัดขวางข้าศึกที่กำลังเดินทางกลับบ้านเมือง เมื่อล้อมข้าศึกไว้ได้ ท่านจงเปิดทางหนี (ให้ข้าศึก) ไว้ อย่ารังแกข้าศึกจนมุม

บรรพที่ ๘ สิ่งซึ่งผันแปรได้ ๙ ประการ

ซุนวู กล่าวว่า... "ท่านจะต้องไม่ตั้งค่ายในที่ลุ่ม ในพื้นที่ที่มีการติดต่อสะดวก จงรวมกับพันธมิตร ท่านจะต้องวกเวียนในพื้นที่ป้องกันตัวได้ยาก ในพื้นที่คับขัน ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทุกอย่าง ในพื้นที่ตาย ให้สู้ มีทางบางเส้นที่ไม่ควรเดินตาม หน่วยทหารบางหน่วยที่ไม่ควรเข้าตี เมืองบางเมืองไม่ควรเข้ายึด พื้นที่บางแห่งไม่ควรทำการรบ"
มีบางโอกาสที่แม่ทัพไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจปกครองสูงสุด "เมื่อท่านมองเห็นวิถีทางที่ถูกที่ควร จงปฏิบัติ อย่าคอยคำสั่ง"
แม่ทัพเข้าถึงถ่องแท้ในความได้เปรียบของการใช้หลักของ "สิ่งที่ผันแปรได้ ๙ ประการ" ย่อมรู้ว่า "จะใช้ขบวนศึกอย่างไร" แม่ทัพผู้ไม่เข้าใจความได้เปรียบจากหลักของ "สิ่งที่ผันแปรได้ ๙ ประการ" จะไม่สามารถใช้พื้นที่เพื่อความได้เปรียบ แม้จะมักคุ้นกับพื้นที่นั้นดี อำนวยงานปฏิบัติทางการทหารนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจเลือกยุทธวิธีอันเหมาะสมกับ "ความผันแปรได้ ๙ ประการ" จะไม่ สามารถใช้กำลังทหารอย่างได้ผลดี แม้แต่ถ้าเขาจะเข้าใจ "ความได้เปรียบ ๕ ประการ" ความแตกต่าง ๕ ประการ มีอยู่ดังนี้ ๑. เส้นทางใด แม้จะสั้นที่สุดก็ไม่ควรเดินตาม ถ้าทราบว่า มีอันตราย และอาจฉุกเฉินด้วยข้าศึกซุ่มตี ๒. กองทัพที่เห็นว่าอาจเข้าตีได้ แต่ไม่ควรเข้าตี ถ้าสภาพแวดล้อมดูสิ้นหวัง และเป็นไปได้ว่า ข้าศึกจะสู้สุดชีวิต ๓. แม้เมืองจะตั้งอยู่โดดเดี่ยว ชวนให้เข้าตีได้ ก็ไม่ควรเข้าตี ถ้ามีทางเป็นไปได้ว่า ข้าศึกมีเสบียงอาหารสะสมไว้ดี มีกองทหารกล้าแข็งคอยป้องกัน มีแม่ทัพที่ฉลาดคอยสั่งการ ขุนนางข้าราชการก็ซื่อสัตย์ต่อเจ้าเมือง มีแผนที่หยั่งรู้มิได้ ๔. พื้นที่ก็ดูเหมือนเหมาะที่จะเข้ารบ ยังไม่ควรเข้ารบ ถ้ารู้ว่าเมื่อเข้าถึงพื้นที่นั้นแล้ว ยากที่จะป้องกันตัว หรือเมื่อยึดได้แล้ว ไม่เกิดประโยชน์อันใด ขณะเดียวกันอาจถูกโจมตี ตอบโต้จนเกิดความเสียหายได้ ๕. แม้คำบัญชาจากผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ ก็ไม่ปฏิบัติ ถ้าแม่ทัพทราบว่า คำบัญชามีอันตราย อันเกิดจากข้อแนะนำอันไม่สุจริตจากเมืองหลวง เหตุอันเกิดขึ้นได้ทั้ง ๕ ประการนี้ จะต้องแก้ไขเมื่อเกิดขึ้น โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้น ปัญหาเหล่านี้จะจัดการให้สำเร็จล่วงหน้ามิได้ ด้วยเหตุนี้ แม่ทัพผู้ฉลาด เมื่อจะต้องแก้ปัญหาต่างๆ จึงต้องพิจารณาปัจจัยทั้งที่เป็นคุณ และโทษ แม่ทัพ ต้องรอบคอบพอที่จะ "เห็นอันตรายอันทำให้เกิดความได้เปรียบ และความได้เปรียบที่ ทำให้เกิดอันตราย" เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆอันเป็นคุณแล้ว แม่ทัพย่อมกำหนดแผนที่จะใช้ปฏิบัติได้ โดยเอาปัจจัยที่เป็นโทษเมื่อร่วมพิจารณา ด้วย แม่ทัพจึงอาจขจัดปัดเป่าความยากลำบากทั้งมวลได้ ถูมู่อธิบายว่า.... "ถ้าข้าพเจ้าปรารถนาความได้เปรียบจากข้าศึก ข้าพเจ้าจะไม่คิดถึงเพียงความได้เปรียบจากการกระทำเช่นนั้น แต่แรกทีเดียวจะต้องพิจารณาว่า ข้าศึกจะทำอันตรายอะไรได้บ้าง ถ้าข้าพเจ้าปฏิบัติเช่นนั้น" กฎของสงครามมีอยู่ประการหนึ่งคือ อย่าคะเนว่าข้าศึกจะไม่มา แต่ควรจะคิดว่า เราพร้อมจะเผชิญหน้าข้าศึกอยู่เสมอ อย่าคิดเสียว่า ข้าศึกจะไม่เข้าตี แต่ให้ถือว่า ต้องทำให้ไม่มีผู้ใดทำลายได้ ยุทธศาตร์ของหวู กล่าวว่า "เมื่อโลกมีสันติภาพ สุภาพบุรุษย่อมวางดาบไว้ข้างตัว"
มี คุณสมบัติอยู่ ๕ ประการ ที่เป็นอันตรายต่อบุคลิกภาพของแม่ทัพ ถ้าประมาท อาจถูกฆ่า ถ้าขาดกลัว จะถูกจับ ถ้าเป็นคนโมโหฉุนเฉียวง่าย จะหลอกให้โง่ได้ง่าย ถ้าเขาเป็นคนอ่อนไหวในความรู้สึกเรื่องเกียรติยศ ท่านย่อมจะสบประมาทให้โกรธได้ง่าย ถ้าเขาเป็นคนขี้สงสาร ท่านย่อมรบกวนความรู้สึกของเขาได้ บุคลิกภาพทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นอันตรายร้ายแรงสำหรับผู้เป็นแม่ทัพ และเมื่อลงมือปฏิบัติการทางทหาร ย่อมเกิดความหายนะ

บรรพที่ ๙ การเดินทัพ

ถ้าท่านปรารถนาจะเปิดการรบ อย่าเผชิญหน้ากับข้าศึกใกล้น้ำ ตั้งทัพบนที่ดอนหันหน้ารับแสงแดด อย่าอยู่ในตำแหน่ง ใต้กระแสน้ำ (ที่ให้ตั้งทัพห่างแม่น้ำ เพราะทางที่จะพยายามลวงข้าศึกให้ข้ามแม่น้ำมีอยู่ ซึ่งเป็นทางได้เปรียบ) เมื่อข้ามดินเค็มชายทะเล ให้ข้ามโดยเร็ว อย่าวกวนในพื้นที่เช่นนี้ บนพื้นที่ราบ ต้องเข้ายึดบริเวณที่จะอำนวยความสะดวกในการรบ ให้ที่สูงอยู่ด้านหลังและด้านขวา สนามรบอยู่เบื้องหน้า แล้วเบื้องหลังจะปลอดภัย
ซุนวูกล่าวว่า... "เบื้องหน้าคือความตาย เบื้องหลังคือความมีชีวิต" โดยทั่วไปการตั้งทัพตามสภาวการณ์ทั้งสี่ที่กล่าวมานี้ ย่อมทำให้เกิดความได้เปรียบ ที่ใดมีน้ำไหลเชี่ยว จากที่สูงชัน มี "บ่อสวรรค์" "กรงสวรรค์" "กับดักสวรรค์" "ตาข่ายสวรรค์" "รอยร้าวสวรรค์" ท่านต้องรีบเดินทัพออกจากที่เหล่านี้โดยเร็วที่สุด อย่าเข้าไปใกล้ ข้าพเจ้าอยู่ห่างจากสถานที่เช่นนี้ แล้วล่อให้ข้าศึกเข้าไปในที่เช่นนี้ ข้าพเจ้าเผชิญหน้าข้าศึก แล้วทำให้ข้าศึกหันหลังเข้าหาสถานที่เช่นนี้ เมื่อด้านข้างของกองทัพเป็นป่ารกชัฎอันตราย หรือหนองน้ำปกคลุมด้วยหญ้าและพงอ้อ ดงเสือหมอบหรือป่าลึก ใกล้เขาโคนไม้ปกคลุมด้วยเถาวัลย์ ท่านจะต้องค้นด้วยความระมัดระวัง เพราะสถานที่เช่นนี้ข้าศึกมักซุ่มโจมตี และสายลับ มักซุกซ่อน
เมื่อข้าศึกอยู่ใกล้ แต่สงบนิ่งอยู่ ข้าศึกอาศัยที่ตั้งที่เหมาะสม เมื่อข้าศึกอยู่ไกล แต่ท้าทายหมายยั่วให้ท่านรุกเข้าหา ข้าศึกย่อมอยู่ในพื้นที่เหมาะสม และอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ
ในการทำศึก จำนวนทหารอย่างเดียวมิได้แสดงถึงความได้เปรียบ อย่ารุกโดยถือเอาอำนาจทหารเป็นสำคัญ ประมาณสถานภาพของข้าศึกให้ถูกต้องก็เป็นการเพียงพอ แล้วรวมกำลังของท่านจับข้าศึกให้ได้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ผู้ที่ขาดสายตาไกล ประมาณกำลังของข้าศึกผิดพลาด จะถูกข้าศึกจับได้
ถ้าทหารของท่านถูกลงโทษ ก่อนจะดูให้แน่ถึงความจงรักภักดี ทหารจะหมดความเชื่อถือในคำสั่ง ถ้าทหารไม่เชื่อฟัง ก็ยากจะใช้งาน ถ้าทหารมีความจงรักภักดี แต่ไม่มีการลงโทษเมื่อทำผิด ก็ใช้งานมิได้เช่นกัน

บรรพที่ ๑๐ ภูมิประเทศ

ซุนวูกล่าวว่า... พื้นที่อาจแยกประเภทได้ตามลักษณะของธรรมชาติ คือ เข้าออกได้ เป็นกับดัก ไม่แน่นอน บีบรัด สูงชัน และ มีระยะทาง พื้นที่ซึ่งทั้งฝ่ายเรา และฝ่ายข้าศึกสามารถเดินทางผ่านเข้าออกได้ด้วยความสะดวกเท่าๆกัน เช่นนี้เรียกว่า "พื้นที่เข้าออกได้"ในพื้นที่เช่นนี้ผู้ที่เลือกได้ด้านที่รับแดดและมีเส้นทางลำเลียงสะดวกก่อน จะสามารถทำการรบอย่าง ได้เปรียบ พื้นที่ซึ่งยกกำลังเข้าไปได้ง่าย แต่ยากที่จะถอนตัวกลับ อย่างนี้เรียกว่า "พื้นที่เป็นกับดัก" ธรรมชาติของพื้นที่เช่นนี้ ถ้าข้าศึก มิได้เตรียมตัวไว้ แล้วท่านกำลังเข้าตีอย่างรวดเร็ว ท่านอาจทำลายข้าศึกได้ ถ้าข้าศึกเตรียมรับ ท่านยกกำลังเข้ารบแต่ไม่ชนะ ยากที่จะถอนกลับ เช่นนี้ไม่มีประโยชน์อันใด พื้นที่ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว เกิดความเสียเปรียบเท่าๆกันทั้งฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก เช่นนี้เรียกว่า "พื้นที่ไม่แน่นอน" ธรรมชาติของพื้นที่เช่นนี้ แม้ข้าศึกจะวางเหยื่อล่อไว้ ข้าพเจ้าก็จะไม่รุกเข้าไป แต่จะลวงให้ข้าศึกเคลื่อนตัวออกมา เมื่อข้าพเจ้าดึงทัพของข้าศึกออกมาได้แล้วครึ่งหนึ่ง ข้าพเจ้าจะเข้าโจมตีอย่างได้เปรียบ ถ้าข้าพเจ้าเป็นฝ่ายแรกที่ตกอยู่ใน "พื้นที่บีบรัด" ข้าพเจ้าต้องปิดทางเข้า แล้วคอยทีข้าศึก ถ้าข้าศึกเป็นฝ่ายแรกที่เข้ายึดพื้นที่ เช่นนี้ได้ แล้วปิดทางผ่านเข้า ข้าพเจ้าจะไม่ติดตามข้าศึก ถ้าข้าศึกมิได้ปิดเสียจนสิ้นหนทาง ข้าพเจ้าก็อาจรุกเข้าไปได้ ถ้าเป็น "พื้นที่สูงชัน" ข้าพเจ้าจะเลือกตั้งทัพในที่สูงรับแสงตะวันคอยทีข้าศึก ถ้าข้าศึกยึดพื้นที่เช่นนั้นได้ก่อน ข้าพเจ้า จะล่อให้ข้าศึกเคลื่อนที่ออก ข้าพเจ้าไม่ติดตามข้าศึก เมื่ออยู่ใน "ระยะทาง" ห่างจากข้าศึกที่มีกำลังทัดเทียมกัน เป็นการยากที่จะยั่วยุให้เกิดการรบ และไม่มีประโยชน์อันใดที่ จะเข้าทำการรบกับข้าศึกในพื้นที่ซึ่งข้าศึกเป็นผู้เลือกได้ก่อน นี่คือหลักที่เกี่ยวข้องกับประเภทของ "พื้นที่แตกต่างกัน ๖ ประการ" เป็นความรับผิดชอบสูงสุดของแม่ทัพที่จะต้องรู้จัก พื้นที่ต่างๆ แล้วพิจารณาด้วยความระมัดระวัง
เมื่อทหารแตกทัพไม่เชื่อฟังคำสั่ง ขวัญเสียสิ้นกำลัง หมดความเป็นระเบียบ และกระด้างกระเดื่อง ความผิดตกอยู่ที่แม่ทัพ ความพินาศฉิบหายด้วยเหตุเหล่านี้จะอ้างว่าเป็นเหตุทางธรรมชาติมิได้
ภาวะอย่างอื่นก็เช่นเดียวกัน ถ้ากำลังรบหน่วยใดต้องเข้าตีหน่วยที่ใหญ่กว่าสิบเท่า ผลก็คือต้องแตกทัพ เมื่อทหารเข้มแข็ง และนายทหารอ่อนแอ กองทัพก็ขาดระเบียบ เมื่อนายทหารมีความฮึกเหิม และไพร่พลไม่กระตือรือร้น กองทัพก็หมดความสามารถ เมื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่โกรธ และไม่เชื่อฟังคำสั่ง และเมื่อต้องเข้าสู้รบกับข้าศึก ก็เร่งรีบเข้าทำการรบโดยไม่เข้าใจ ผลได้ผลเสียของการปะทะและไม่คอยฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา กองทัพอาจอยู่ในฐานะยับเยินได้ เมื่อจิตใจของแม่ทัพอ่อนแอ การรักษาระเบียบวินัยไม่เคร่งครัด เมื่อคำสั่งและแนวทางปฏิบัติของแม่ทัพไม่สร้างความเชื่อมั่น และ ปราศจากระเบียบและข้อบังคับที่เด็ดขาด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนายและไพร่พล รูปขบวนทัพก็สับสน หมายถึงกองทัพย่อมเกิด ความระส่ำระสาย เมื่อผู้บัญชาการไม่สามารถประมาณกำลังของข้าศึก ใช้กำลังน้อยเข้าสู้กำลังมาก กำลังอ่อนแอเข้าตีกำลังเข้มแข็ง หรือไม่สามารถเลือกหน่วยทลวงฟันให้กองทัพ ผลก็คือ แพ้ เมื่อภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๖ ประการนี้เกิดขึ้น หมายถึงกองทัพมีหนทางพ่ายแพ้ จึงเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของแม่ทัพ ที่จะต้องตรวจสอบปัญหาด้วยความระมัดระวัง
แม่ทัพที่นำทัพรุกโดยไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเฉพาะตัว และเมื่อถอยทัพก็ไม่ห่วงใย หลีกเลี่ยงการลงโทษ แต่ด้วยความมุ่งหมายเพียง ต้องการป้องกันประชาชน และเสริมสร้างผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้กับผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน แม่ทัพเช่นนี้ถือเป็น "มณีมีค่ายิ่งของบ้านเมือง" เพราะแม่ทัพเช่นนั้นถือว่าคนของตนเหมือนดั่งทารกแรกเกิด ทหารจะเดินตามเขาไปในหุบเขาลึก ที่สุด แม่ทัพเช่นนี้ดูแลทหารปานบุตรสุดที่รักของตน ทหารจะตายกับแม่ทัพ "รู้จักข้าศึก รู้จักตัวท่านเอง" ชัยชนะของท่านจะไม่เป็นอันตราย รู้จักภูมิประเทศ รู้จักภูมิอากาศ ชัยชนะก็เป็นเรื่องเบ็ดเสร็จ

บรรพที่ ๑๑ พื้นที่ต่างกัน ๙ อย่าง

ซุนวูกล่าวว่า.... ในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ขบวนศึกนั้น ให้พิจารณาแบ่งลักษณะของพื้นที่ออกต่าง ๆ กันดังนี้:- กระจัดกระจาย, หน้าด่าน, กุญแจ, คมนาคม, ใจกลาง, เคร่งเครียด, ยากลำบาก, ปิดล้อม และ ตาย - เมื่อเจ้านครต้องทำศึกในเขตแคว้นของตนเอง เขาอยู่ใน "พื้นที่กระจัดกระจาย" (ทหารอยากกลับบ้าน) - เมื่อแม่ทัพนำทัพแทรกเป็นแนวแคบเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เขาอยู่ใน "พื้นที่หน้าด่าน" - พื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความได้เปรียบ ถือเป็น "พื้นที่กุญแจ" (พื้นที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์) - พื้นที่ซึ่งออกไปได้ทั้งทัพของข้าศึก และของข้าพเจ้า ถือเป็น "พื้นที่คมนาคม" (ใครจะไปมาก็ได้) - เมืองใดก็ตาม ถูกล้อมอยู่ด้วยเมืองอื่น ๆ อีกสามเมือง เมืองเช่นนี้ถือเป็น "พื้นที่ใจกลาง" ผู้ที่เข้าควบคุมได้ก่อน จะได้รับความสนับสนุนจากทุกอย่างที่อยู่ใต้ฟ้า (อาณาจักร) - เมื่อกองทัพเจาะลึกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก ทิ้งเมืองเล็กเมืองน้อยไว้เบื้องหลังหลายเมือง พื้นที่เจาะลึกเข้าไปถือเป็น "พื้นที่เคร่งเครียด" พื้นที่เช่นนี้ยากจะถอนตัวกลับ - เมื่อกองทัพเดินทางข้ามเขา ผ่านป่า พื้นที่สูงชัน หรือเดินทางผ่านที่รกชัฎ ที่เปียกชื้น หนองน้ำ หรือ พื้นที่ใดก็ตามผ่านได้ด้วยความยากลำบาก ถือเป็น "พื้นที่ยากลำบาก" - พื้นที่ใดทางเข้าจำกัด ทางออกก็ยาก และกองทหารขนาดเล็กของข้าศึกสามารถเข้าตีกำลังขนาดใหญ่กว่าได้ เช่นนี้ถือเป็น "พื้นที่ปิดล้อม" (ง่ายต่อการซุ่มโจมตี ผู้ตกอยู่ในพื้นที่เช่นนี้อาจพ่ายแพ้ยับเยินได้) - พื้นที่ซึ่งกองทัพจะเอาตัวรอดได้ทางเดียว คือต้องต่อสู้ด้วยความมานะและสุดกำลัง เช่นนี้ถือเป็น "พื้นที่ตาย"
ฉะนั้น จงอย่าทำการสู้รบใน "พื้นที่กระจัดกระจาย" อย่าหยุดยิง ณ "พื้นที่หน้าด่าน"ชายแดน อย่าโจมตีข้าศึกผู้ยึดครอง "พื้นที่กุญแจ" ใน "พื้นที่คมนาคม" อย่าให้ขบวนทัพของท่านแตกแยกกัน ใน "พื้นที่ใจกลาง" ผูกมิตรกับเมืองข้างเคียง ใน "พื้นที่ลึก" ต้องหักหาญ ใน "พื้นที่ยากลำบาก" ต้องบากบั่น ใน "พื้นที่ปิดล้อม" ให้คิดหายุทธวิธี ใน "พื้นที่ตาย" ให้สู้
ใน "พื้นที่กระจัดกระจาย" ข้าพเจ้าจะรวบรวมความตั้งใจมั่นของกองทัพให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน "พื้นที่หน้าด่าน" ข้าพเจ้าจะคอยระวังให้กำลังทหารของข้าพเจ้าต่อเชื่อมใกล้ชิดกัน "พื้นที่กุญแจ" ข้าพเจ้าจะเร่งความเร็วของกำลังส่วนหลัง "พื้นที่คมนาคม" ข้าพเจ้าจะเอาใจใส่กับการป้องกันตนเอง "พื้นที่ใจกลาง" ข้าพเจ้าจะส่งเสริมไมตรีกับพันธมิตร "พื้นที่เคร่งเครียด" ข้าพเจ้าต้องจัดการให้แน่นอนว่า เสบียงส่งได้ต่อเนื่องไม่ขาดมือ "พื้นที่ยากลำบาก" ข้าพเจ้าจะเร่งรีบเดินทาง "พื้นที่ปิดล้อม" ข้าพเจ้าจะปิดทางเข้าและทางออก "พื้นที่ตาย" ข้าพเจ้าสามารถแสดงด้วยประจักษ์พยานว่า ไม่มีทางเอาตัวรอดได้เลย โดยธรรมชาติของทหารนั้น จะต้านทานเมื่อถูกล้อม จะสู้จนตายเมื่อไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น เมื่อสิ้นหนทาง ทหารจะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ต้องเลือกยุทธวิธีต่าง ๆ กัน ให้เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่ทั้ง ๙ ชนิด ความได้เปรียบ เสียเปรียบของการรวมและการกระจายกำลัง และหลักธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แม่ทัพจะต้องพิจารณา ด้วยความระมัดระวังมากที่สุด หากมีผู้ถามว่า "ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรกับกองทัพข้าศึกที่ขบวนทัพเป็นระเบียบดี และกำลังจะเข้าตีข้าพเจ้า" ข้าพเจ้าตอบว่า "เข้ายึดอะไรสักอย่างหนึ่งที่ข้าศึกหวงแหน แล้วข้าศึกจะยินยอมน้อมตามปรารถนาของท่าน"
สรุปธรรมชาติอันสำคัญของการทำสงคราม และเป็นหลักสำคัญสูงสุดที่แม่ทัพต้องยึดถือ :- ความเร็ว เป็นสิ่งสำคัญในการทำสงคราม ถือเอาความได้เปรียบจากการไม่ได้เตรียมตัวของข้าศึก เดินทางด้วยเส้นทางที่ข้าศึกคาดไม่ถึง แล้วเข้าโจมตีตรงจุดที่ข้าศึกมิได้มีความระมัดระวัง
หลักการโดยทั่วไปของกองทัพที่รุกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก กองทัพของท่านต้องรวมตัวกันแน่นแฟ้นเมื่อรุกเข้าไปในเขตของข้าศึก ฝ่ายป้องกันจะไม่สามารถเอาชนะท่านได้
การจะสร้างความกล้าหาญให้มีระดับสม่ำเสมอ คือ จุดมุ่งหมายในการบริหารงานทางการทหาร และก็ด้วยการจัดใช้พื้นที่ด้วยความเหมาะสม ประกอบทั้งการใช้กองทหารทลวงฟันและกองทหารที่ปรับตัวได้ จึงจะ ได้เปรียบมากที่สุด
เป็น "กิจของแม่ทัพ" ที่ต้องมีความสงบระงับ และไม่หวั่นไหว ไม่ลำเอียง และสามารถควบคุมสติตัวเองได้ดี แม่ทัพเปลี่ยนวิธีการ และพลิกแพลงแผนการณ์เพื่อมิให้ผู้ใดล่วงรู้ได้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ การรวมกำลัง และทุ่มเทลงไปในภาวะที่ดูเหมือนหมดหนทางเป็น "ภารกิจของแม่ทัพ"
หลักมูลฐานของการปฏิบัติการทางทหารอยู่ที่ความสามารถปรับตนเองให้สอดคล้องไปกับแผนของข้าศึก กฎของสงครามอยู่ที่การติดตามสถานการณ์ทางด้านข้าศึก เพื่อการตัดสินใจเข้าทำการรบ

บรรพที่ ๑๒ การโจมตีด้วยไฟ

ซุนวูกล่าวว่า... การโจมตีด้วยไฟมีอยู่ ๕ วิธี ข้อแรก เผาคน ข้อสอง เผาคลังเสบียง ข้อสาม เผายุทโธปกรณ์ ข้อสี่ เผาคลังอาวุธ และข้อห้า ใช้อาวุธลูกไฟต่าง ๆ ในการใช้เพลิงเผา จะต้องอาศัย "สื่อกลาง" บางอย่างด้วย (คนทรยศที่ซ่อนอยู่กับข้าศึก) การวางเพลิงต้องเลือกเวลาที่เหมาะสม และวันสมควร การโจมตีด้วยไฟนั้น ผู้ใช้จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เมื่อเพลิงไหม้ขึ้นในค่ายของข้าศึก ทันทีนั้นท่านจะประสานการปฏิบัติจากภายนอกของท่าน แต่ถ้าทหารของข้าศึก ยังคงสงบ ต้องรอเวลาดูทีท่า อย่าเข้าตี วันใดลมจัดในตอนกลางวัน จะอับลมในตอนกลางคืน ผู้ที่ใช้ไฟเข้าช่วยในการโจมตีได้ถือว่าฉลาด ส่วนผู้ที่ใช้น้ำทำลายข้าศึกได้ถือว่ามีอำนาจ น้ำสามารถตัดข้าศึกให้อยู่ โดดเดี่ยวได้ แต่ไม่สามารถทำลายเสบียง และยุทโธปกรณ์ได้ ผู้ปกครองที่ฉลาด มีการตัดสินใจดี และแม่ทัพที่ดีย่อมระวังไม่ปฏิบัติการฉาบฉวย

บรรพที่ ๑๓ การใช้สายลับ

ซุนวูกล่าวว่า... เหตุผลที่เจ้านครผู้ฉลาด และแม่ทัพผู้มีสติปัญญาเอาชนะข้าศึกได้
ไม่ว่าจะทำศึกเมื่อใด และผลสำเร็จอยู่เหนือคนธรรมดาสามัญ คือ รู้การณ์ล่วงหน้า (เกี่ยวกับภาวการณ์ข้าศึก) "สาย" ซึ่งใช้งานได้มีอยู่ ๕ ประเภท คือ สายลับพื้นเมือง สายลับภายใน สายลับสองหน้า สายลับกำจัดได้ และสายลับมีชีวิต เมื่อสายลับทั้ง ๕ ประเภทลงมือทำงาน ต่างก็ปฏิบัติภารกิจของตนไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่มีผู้ใดรู้วิธีหาข่าวของสายลับเหล่านี้ เราเรียกคนพวกนี้ว่า "เทวปักษี" เป็นสมบัติมีค่าของผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดในแผ่นดิน สายลับพื้นเมือง คือ คนท้องถิ่นของข้าศึกที่เราเอามาใช้งานได้ สายลับภายใน คือ นายทหารของข้าศึกที่เราเอามาใช้งานได้ สายลับสองหน้า คือ สายลับของข้าศึกที่เราเอามาใช้งานได้ สายลับกำจัดได้ คือ สายลับของฝ่ายเรา ที่เราส่งไปในดินแดนของข้าศึก เพื่อสร้างข่าวลวงขึ้น สายลับมีชีวิต คือ สายลับที่กลับมาได้พร้อมข่าว
ในบรรดาผู้อยู่ใกล้ชิดผู้บัญชาการทัพ ใครไม่สนิทสนมยิ่งไปกว่าสายลับ ในบรรดาผู้ที่ได้รับปูนบำเหน็จรางวัล ใครก็ไม่ควรได้ มากไปกว่าสายลับ ในบรรดาเรื่องต่าง ๆ ไม่มีเรื่องใดเป็นความลับมากกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการสืบราชการลับ
ผู้ที่ไม่สามารถถึงขั้นเซียน และมีสติปัญญา มีความเป็นมนุษย์และมีความยุติธรรม จะไม่สามารถใช้สายลับได้ ผู้ที่ไม่ละเอียดละออ และปราศจากไหวพริบ ก็ไม่สามารถเอาความจริงจากสายลับได้
"พึงระวังสายลับที่กลับใจ"
ถ้าแผนเกี่ยวกับงานสืบราชการลับแตกออกเสียก่อนจะลงมือทำการ ทั้งสายลับและทุกคนที่รู้เรื่องราวแล้วนำไปพูดถึง จะถูกประหารชีวิตหมด
เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องค้นให้พบสายลับของข้าศึกที่มาสืบราชการลับของท่าน แล้วติดสินบนให้กลับทำงานเพื่อท่าน สั่งงานแล้ว ดูแลด้วยความระมัดระวัง ด้วยวิธีนี้จะได้ "สายลับสองหน้า" ไว้ใช้ โดยวิธีการใช้สายลับสองหน้า ก็จะจัดหา "สายลับภายใน" และ "สายลับพื้นเมือง" มาใช้งานได้ และด้วยสายลับสองหน้า จะสามารถส่ง "สายลับกำจัดได้" นำข่าวลวงไปถึงข้าศึกได้ ด้วยวิธีดังกล่าว จะสามารถใช้ "สายลับมีชีวิต" ได้ด้วยในจังหวะอันเหมาะสม
"พึงต้องปฏิบัติสายลับสองหน้าโดยอิสระที่สุด"
งานราชการลับเป็นเรื่องสำคัญในการทำสงคราม ด้วยสายลับ กองทัพได้อาศัยดำเนินงานศึกได้ทุกระยะ
"กองทัพที่ปราศจากสายลับ ไม่ผิดอะไรกับคนที่ปราศจากตาและหู"