วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตำราพิชัยสงครามของซุนวู และเง่าคี้

กล่าวนำ "แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ"
การเตรียมรบให้พร้อมสรรพ คือ การตระเตรียมกำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พรักพร้อม แต่จะคิดให้ไกลและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไปอีก น่าจะหมายถึงการ "เตรียมจิตใจ" และ "ความคิด" ในเรื่องของ การศึกสงครามไว้ให้พร้อมด้วย การทำศึกสงคราม ถือเอาชัยชนะด้วยการใช้สติปัญญาเป็นเรื่องสำคัญกว่าการใช้เพียงกำลัง
ซุนวูสอนว่า.... "สงครามทุกรูปแบบ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกลอุบาย" และ "นโยบายที่ดีที่สุดของการชนะสงคราม คือ การทำให้ข้าศึก ยอมแพ้โดยไม่ต้องสู้รบ" หมายถึง การใช้สติปัญญา ความรอบรู้ กำหนดแผนยุทธศาสตร์ เพื่อทำลายล้างข้าศึก หรือทำให้ข้าศึก เกิดความอ่อนแอภายในเสียก่อนที่จะต้องใช้กำลังทหารเข้าทุ่มเท
ซุนวูกล่าวว่า..... "แม่ทัพที่ชำนาญการสงคราม เอาชนะข้าศึกได้โดยมิต้องสู้รบ ยึดเมืองได้โดยมิต้องใช้กำลังเข้าตี และล้มอาณาจักรของศัตรูได้โดยมิต้องทำการรบเรื้อรัง"
การได้อ่าน และทบทวนตำราพิชัยสงครามของซุนวูหลาย ๆ ครั้ง ไม่เพียงจะทำให้เกิดสติปัญญา และความคิดอันเป็นประโยชน์ในการรู้สึกไหวตัว ยังช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันได้ง่าย
สงครามเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่ง คู่สงครามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้ หรือฝ่ายชนะ ต่างต้องได้รับความเสียหาย ชีวิตของผู้คนพลเมือง ทรัพย์สินของบ้านเมืองต้องสูญเสียสิ้นเปลืองอย่างน่าอเนจอนาถ สงครามเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนใหญ่หลวงของประชาชน และผู้ต้องภัยพิบัติมากที่สุดจากสงคราม ก็คือประชาชนโดยตรง
ม่อตี๊ เป็นนักคิด นักบันทึกจดหมายเหตุ (พ.ศ.64-162) ประณามการทำสงครามไว้อย่างน่าพิจารณาว่า "ความถูกต้อง และความควรมิควร เป็นสิ่งชี้ขาดได้ยาก" ผู้ที่ทำความผิดขนาดเล็ก ถือเป็นอาชญากร แต่ผู้ที่ทำผิดขนาดใหญ่กว่า เช่น การยกกองทัพ ไปรุกรานโจมตีเข่นฆ่าผู้คนพลเมืองของเมืองอื่นล้มตายนับพันนับหมื่น กลับไม่ถือกันว่าเป็นความผิด แต่กลายเป็นสิ่งอันควรยกย่องสรรเสริญ แล้วเช่นนี้ ความถูกต้อง และความควรมิควรอยู่ที่ใดกันแน่"
ซุนวู และตำราพิชัยสงครามสิบสามบท
ขบวนศึกของจีนในยุคนั้น มีการจัดกำลังเพื่อทำการรบ ได้ทั้งแบบปรกติธรรมดา ซึ่งเรียกว่าเจิ้ง หรือเจี่ย และแบบพิสดาร เรียกว่า ฉี หรือคี้ ซึ่งหมายถึงผิดจากธรรมดา เช่นการใช้กองทัพใหญ่เข้าตีตรงหน้า เป็นหลักธรรมดา เป็นเจิ้ง ขณะเดียวกัน ใช้หน่วยจู่โจม ต่างหาก เข้าตีทางปีกซ้ายของข้าศึก หรือปีกขวา หรือด้านหลัง ในลักษณะลอบเข้าตีโดยที่ข้าศึกไม่คาดคิด ถือเป็น ฉี คือ พิสดาร กลอุบายสร้างความพะวักพะวังลังเลให้ข้าศึก เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งซึ่งจะเอาชนะข้าศึกได้
"เจิ้ง และ ฉี" จึงปรากฎอยู่เสมอในการทำสงครามยุคนั้น
การสงครามทัศนะของซุนวู
สงครามเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของบ้านเมือง จะต้องศึกษากันให้ถ่องแท้ ซุนวู เชื่อว่า "กำลังใจ" และ "สติปัญญา" ของมนุษย์ คือสิ่งสำคัญที่จะชี้ขาดผลของสงคราม ผู้พิชิตศึกได้ดีเยี่ยมย่อม "ทำลายแผนของข้าศึก" สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างข้าศึกและ พันธมิตร ระหว่างขุนนาง ระหว่างแม่ทัพกับทหาร ก่อวินาศกรรมในเขตของข้าศึก ข้าศึกจะเสียขวัญ หมดกำลังใจต่อสู้ต้านทาน กองทัพข้าศึกก็จะยอมแพ้ เว้นแต่เมื่อเอาชนะข้าศึกด้วยวิธีดังกล่าวมิได้ การใช้กำลังทหารจึงจะเป็นเรื่องจำเป็น
"ผู้ทำสงครามโดยหวังชัยชนะ" ควรปฏิบัติตามหลักสำคัญ ๓ ประการ :- ๑. ทำสงครามให้สุดสิ้นเด็ดขาด ด้วยระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ๒. ทำสงครามโดยให้สูญเสียทรัพย์สินสิ่งของชีวิตทหาร และการใช้ความพยายามให้น้อยที่สุด ๓. สร้างความเสียหายให้ข้าศึกมากที่สุด โดยตัวเองมีความเสียหายน้อยที่สุด
"หลักสำคัญที่ซุนวูยึดถือ" คือ ความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนในบ้านเมือง สิ่งจำเป็นยิ่งที่จะช่วยให้ชนะสงครามได้ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบ้านเมือง "แม่ทัพที่ฉลาด" จะสร้างสถานการณ์ที่ช่วยทำให้เขาแน่ใจได้ว่า จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้รวดเร็ว ซุนวูย้ำเสมอว่า สิ่งจำเป็นที่สุดในการทำสงคราม คือ "ความสามารถในการโจมตีที่ความคิดของข้าศึก" ยุทธวิธีของแม่ทัพผู้สามารถ ขึ้นอยู่กับการนำเอาการรบแบบธรรมดา (เจิ้ง) และการรบแบบ พิสดาร (ฉี) มาใช้ให้ถูกต้อง ผสมผสานกันโดยเหมาะสม จะให้ผลในทางที่ดีเสมอ
เจิ้งกับฉี เปรียบได้กับวงแหวนสองวง เกี่ยวกันอยู่ ใครเล่าจะบอกได้ว่า ห่วงกลมทั้งสองที่คล้องกันอยู่นั้น เริ่มคล้องที่ใดและสิ้นสุดตรงไหน ปฏิบัติการของกำลังส่วนที่เป็นฉี หรือพิสดารเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ข้าศึก ไม่คาดคิดเสมอ "แม่ทัพที่ดี รู้จักระมัดระวัง รอคอย แต่ไม่รีรอลังเล" เขาเห็นโอกาสเปิดเขาลงมือกระทำการ โดยฉับพลันทันที และเด็ดขาด ทฤษฎีของซุนวู ให้รู้จักปรับตนเองได้ตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซุนวูเห็นว่า ผู้ที่ไม่รู้จักเลือกใช้พื้นที่ให้ ถูกต้อง ย่อมเป็นแม่ทัพมิได้
คู่ลู่ยุ นักทำแผนที่ทหารสำคัญของจีน (พ.ศ.๒๑๗๔-๒๒๓๕) บันทึกไว้ว่า "ใครก็ตามที่เริ่มดำเนินการสงคราม ณ ที่ใดที่หนึ่งของประเทศ เขาควรรู้สภาพภูมิประเทศใน เขตสงครามโดยครบถ้วนถูกต้อง การทำสงครามโดยไม่รู้จักภูมิประเทศโดยละเอียด ย่อมจะต้องพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ"
"ไม่มีบ้านเมืองใดที่ได้ประโยชน์จากการทำสงครามยืดเยื้อ" ซึ่งเป็นทฤษฎีของซุนวูยังนำมาใช้ใน ปัจจุบันในการปฏิบัติทางทหารของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ว่า "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม" ซึ่งทราบกันดีว่ามาจากยุทธวิธีของ "เมาเซตุง" ที่ว่า ๑. เมื่อข้าศึกรุก เราถอย ๒. เมื่อข้าศึกหยุดพัก เรารบกวน ๓. เมื่อข้าศึกอิดโรยหลีกเลี่ยงการสู้รบ เราเข้าตี ๔. เมื่อข้าศึกถอย เราติดตามทำลาย
ฉะนั้น ยุทธวิธีของเมาเซตุง จึงไม่ใช่ความคิดใหม่ของเมาเซตุงเลย ที่แท้มาจากความคิดและ ทฤษฎีตามตำราพิชัยสงครามของซุนวูนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: